คำไวพจน์ ควรจดจำ
ในภาษาไทยมีคำศัพท์หลากหลายคำที่ถึงแม้จะมีการเขียนและการออกเสียงที่แตกต่างกัน แต่ก็มีหลายต่อหลายคำที่มีความหมายเหมือนกัน ซึ่งความแตกต่างนี้อาจขึ้นอยู่กับระดับของภาษาหรือบริบทที่ใช้คำเหล่านั้น โดยเราจะเรียกคำเหล่านี้ว่า "คำไวพจน์" และสามารถจำแนกได้เป็นหลายประเภท บทความนี้จะนำท่านไปรู้จักกับคำไวพจน์ที่พบเจอในชีวิตประจำวันเพื่อเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับคำเหล่านี้มากยิ่งขึ้น
คำไวพจน์ คืออะไร?
คำไวพจน์ คือ คำที่มีความหมายเหมือนกัน หรือ คล้ายกันมาก แต่เขียนและออกเสียงต่างกัน เรียกอีกอย่างว่า "คำพ้อง"
คำไวพจน์ คำพ้อง หรือ การหลากคำ เป็นชื่อเรียกคำในภาษาไทยจำพวกหนึ่ง มีความหมายต่างกันเป็น 2 แบบ
1. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2542 ให้คำอธิบายว่า
คำไวพจน์ คือ "คำที่เขียนต่างกันแต่มีความหมายเหมือนกันหรือใกล้เคียงกันมาก เช่น มนุษย์ กับ คน บ้าน กับ เรือน รอ กับ คอย ป่า กับ ดง คำพ้องความ ก็ว่า" (พจนานุกรม 2542 หน้า 1091)
2. ความหมายที่พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) กล่าวไว้ในหนังสือแบบเรียนภาษาไทย ด้วยว่า
คำไวพจน์ หมายถึง "คำที่ออกเสียงเหมืมอนกันแต่เขียนต่างกันและมีความหมายต่างกัน เช่น ใส กับ ไส โจทก์ กับ โจทย์ พาน กับ พาล ปัจจุบันเรียกว่า คำพ้องเสียง"
คำไวพจน์ง่าย ๆ ไม่ต้องจำ
ไปเรียนรู้คำไวพจน์ง่ายๆ กัน โดยไม่ต้องจดจำอะไรให้มาก ช่วยฝึกให้ค้นกับเหล่าคำไวพจน์พื้นฐานด้วยสื่อการสอนประเภทบัตรคำ Flash card
30 คำไวพจน์ ที่ใช้บ่อย
- กลางคืน = กลางค่ำ / คืน / นักตะ / นิศา / มืดค่ำ / ย่ำค่ำ / รชนิ / รชนี / รัชนี / รัตติ / ราตรี / อันธิกา
- ความรู้ = พิทย / พิทย- / พิทยา / พิทย์ / ภูมิรู้ / มันตา / วิชา / วิชานนะ / วิทยา / เมธา / เวท- / เวท / โพธ
- ใจ = กมล / ดวงหทัย / ดวงแด / ดวงใจ / มน / มโน / ฤดี / ฤทัย / หฤทัย
- ชีวิต = ความเป็น / ความเป็นอยู่ / ชีวัน / ชีวา / ชีวี / ร่วมชีวิต / ลมหายใจ / วิถีชีวิต / เกิด / กำเนิด
- ดอกบัว = กมล / กระมล / จงกล / นิลุบล / นิโลตบล / บงกช / บัว / บุณฑริก / บุษกร / ปทุม / ปทุมา / ปัทมา / สัตตบงกช / สัตตบรรณ / สาโรช / อุทุมพร / อุบล / โกมล
- ท้องฟ้า = คคนางค์ / คคนานต์ / ทิฆัมพร / นภ / นภดล / นภา / นภาลัย / หาว / อัมพร / อากาศ / เวหา / เวหาศ / โพยม
- ทะเล = น้ำ / สมุทร / มหาสมุทร / ลำน้ำ / สายน้ำ / สินธุ / สินธุ์ / สินธู / แม่น้ำ
- เทวดา = นางฟ้า / นิรชรา / ปรวาณ / สุร / สุรารักษ์ / อมร / เทพ / เทว / เทวัญ / เทวา / เทวาคาร / เทวารัณย์ / เทวินทร์ / เทเวนทร์ / เทเวศ / เทเวศร์ / เทเวศวร์ / ไตรทศ
- เทวดาหญิง = กินรี / นางฟ้า / นางสวรรค์ / เทวี / เทพี
- น้ำ = คงคา / ชลธาร / ชลธี / ชลาลัย / ชลาศัย / ชโลทร / ทึก / ธาร / ธารา / นที / รัตนากร / สมุทร / สลิล / สาคร / สาคเรศ / สินธุ / สินธุ์ / หรรณพ / อรรณพ / อัมพุ / อาโป / อุทก / อุทกธารา
- ปลา = ชลจร / ปุถุโลม / มัจฉา / มัจฉาชาติ / มัสยา / มิต / มีน / มีนา / วารีชาติ / อัมพุชา
- ป่า = ชัฏ / ดง / พง / พงพนา / พงพี / พงไพร / พนัส / พนา / พนาดร / พนาลี / พนาวัน / อรัญญิก / อารัญ / อารัณย์ / เถื่อน / ไพร / ไพรวัน / ไพรสัณฑ์
- ผู้ชาย = ชาย / ท้าว / ธ / นายหัว / บัก / บุรุษ / บ่าวน้อย / พระเอก / พ่อพลาย / พ่อหนุ่ม / ภราดร / ภราดา / ภาดร / ภาดา / ภาตระ / ภาตา / ภาตุ / มาณพ / สุดหล่อ / หนุ่มน้อย / อ้าย / เรียม
- ผู้หญิง = สตรี / อิตถี / นารี / กามินี / พธู / กันยา / กัลยา / กานดา / อนงค์
- แผ่นดิน = กษมา / ด้าว / ธรณิน / ธรณี / ธรา / ธราดล / ธริษตรี / ธาตรี / ปฐพี / ปฐวี / ปัถพี / พสุธา / พสุมดี / พิภพ / พื้นดิน / ภพ / ภูตลา / ภูมิ / ภูวดล / เมธินี
- พระจันทร์ = รัชนีกร / แข / บุหลัน / นิศากร / ศศิธร
- พระเจ้าแผ่นดิน = กษัตร / กษัตริย์ / กษัตรีศูร / ขัตติยวงศ์ / จอมราช / ท่านไท้ธรณี / ท้าวธรณิศ / ธรณิศร / ธรณีศวร / ธราธิป / ธเรศ / นรินทร์ / นฤบดี / นฤเบศน์ / นโรดม / บดินทร์ / ภูบดินทร์ / ภูบดี / ภูบาล / ภูมินทร์ / ราชา / ราเชนทร์
- พระวิษณุ = กฤษณะ / จักรปาณี / ธราธร / ธราธาร / พระกฤษณ์ / พระจักรี / พระนารายณ์ / มาธพ / ศางดี / สวภู / ไกษพ / ไตรวิกรม / ไวกุณฐ์
- พระอาทิตย์ = ตะวัน / ทยุมณี / ทินกร / ทิพากร / ทิวากร / ประภากร / พรมัน / ภาณุ / ภาสกร / รพิ / รวิ / รวี / ระพี / สุริยง / สุริยน / สุริยะ / สุริยัน / สุริยา / อหัสกร / อังศุมาลี / อาคิรา / อาภากร
- มอง = ชระเมียง / ชายตา / ดู / ทอดตา / ทอดสายตา / บง / มอง / มองเมียง / มุ่งดู / ยล / ส่งสายตา / ส่ายตา / หมายตา / เมียงมอง / เยี่ยม ๆ มอง ๆ / แยงยล
- มาก = กระชอม / คลาคล่ำ / คับคั่ง / จัด / ชะมัด / ชุกชุม / ดา / ปัง / ปือ / พหล / พหุ / พหุล / พหู / ภุส / ภูริ / มลาก / มหัต / มหันต์ / มากมาย / วิบุล / วิบูล / หนา / หนาตา / หลาก / หลาย / อธิก / อธึก / อักโข / อำพน / อเนก / เกรียง / เกลี่อน / เกลื่อนกล่น / เป็นกอง / เหวง / แครครั่ง / โข / โต / โอฬาร / ใหญ่ / ไกร
- เมฆ = ขี้เมฆ / ปัชชุน / ปโยชนม์ / ปโยธร / พยับเมฆ / พลาหก / วลาหก / วาริท / วาริธร / หมอก / อัมพุท / เมฆา / เมฆินทร์ / เมฆี
- เมือง = กรุง / ธานิน / ธานินทร์ / ธานี / นคร / นครา / นครินทร์ / นคเรศ / บุรินทร์ / บุรี / ประเทศ / ปุระ / พารา / สถานิย
- แม่น้ำ = คลอง / ชลาสินธุ์ / ทะเล / น้ำ / มหาสมุทร / ลำน้ำ / ลุ่มน้ำ / สทิง / สายชล / สายนที / สายน้ำ / สินธุ์ / สินธู / แคว
- ร้องไห้ = กระซิก / กระอืด / กระโหย / กันแสง / กำสรวล / กินน้ำตา / คร่ำครวญ / งอแง / จาบัล / จาบัลย์ / บีบน้ำตา / ประปราน / พิลาป / ฟูมฟาย / รวะ / ร่ำไห้ / ร้องจ๊า / ร้องห่ม / ลักสร้อย / สะอึกสะอื้น / เครงคร่ำ / เศร้าโศก / เสียน้ำตา / โรทนะ / โรทะ / โศก / โศกา / โศกาดูร / โศกี / โหยไห้
- รัก = ชอบ / ชอบพอ / ชอบใจ / ชื่นชอบ / นิยม / ปฏิพัทธ์ / ปลื้ม / พิสมัย / พึงพอใจ / รักใคร่ / วิมลัก / หลงใหล / อานก / อานิก / ฮัก / เปรม / โปรดปราน
- วัว = กาสร / คาวี / ฉลู / พฤษภ / มหิงสา / มหิงส์ / อสุภ / โค
- สงคราม = กรุน / การรบพุ่ง / จำบัง / ฉุป / ฉุป- / ต่อสู้ / ยุทธ / ยุทธ- / ยุทธนา / ยุทธนาวี / ยุทธ์ / รณ / รณ- / ศึกสงคราม / สงคราม / สมร- / สมร / สู้รบ
- สบาย = ผาสุก / รวยรื่น / ร่มเย็น / สบายใจ / สำราญ / สุข / สุขสบาย / สุขิน / สุขี / สุนันท์ / หฤษฎ์ / หัฏฐะ / อุตุ / เกษม / เขมา / เขษม / เปรม / เป็นสุข / เสบย
- สวย = งาม / ประไพ / ลอย / ลาวัณย์ / วิลาวัณย์ / วิไล / สวยงาม / อำไพ / โสภณ / โสภา / ไฉไล
คำไวพจน์ ถือเป็นจำพวกหนึ่งของคำในภาษาไทยที่ทำให้ภาษาไทยมีความสละสลวยมาก พอไปประกอบกับการแต่งบทกลอนแล้วทำให้มีความลื่นไหลและคล้องจองกันแต่ยังคงความหมายที่จะสื่อสารไว้ได้อย่างถูกต้องครบถ้วน เอาไว้บทความหน้าเรามาดูคำไวพจน์และวิธีใช้ในการแต่งกลอนกัน
ข้อมูลเพิ่มเติม
ข้อมูลน่าสนใจ
คำไวพจน์ คืออะไร?
คำไวพจน์ คือ คำที่มีความหมายเหมือนกัน หรือ คล้ายกันมาก แต่เขียนและออกเสียงต่างกัน เรียกอีกอย่างว่า "คำพ้อง"
คำไวพจน์ มาจากอะไร?
คำไวพจน์ มาจาก ภาษาบาลีว่า “เววจน” (เว-วะ-จะ-นะ)